ประเพณีเข้าพรรษาเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาล แรกๆ ยังไม่มีประเพณีนี้ แต่ตอนหน้าฝน ชาวนาทำนากัน เวลาพระเดินก็ไปเหยียบโดนข้าวกล้าบ้าง เหยียบแมลงตายโดยไม่รู้ตัวบ้าง จนชาวบ้านเขาติเตียน ต่อมามีคนไปกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงบัญญัติให้มีการจำพรรษาในช่วงหน้าฝน 3 เดือน คือ ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ช่วง 3 เดือนนี้ พระภิกษุสงฆ์จะอยู่อาวาสเดียวตลอด 3 เดือน ไม่จาริกไปในที่ต่างๆ ประเพณีเข้าพรรษาจึงเกิดขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ประเพณีหล่อเทียนพรรษาเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ในสมัยก่อน กลางคืนต้องอาศัยแสงสว่างจากแสงเทียน เพราะยังไม่มีไฟฟ้า แต่เทียนเล่มเล็กนอกจากมีความสว่างน้อยแล้ว จุดได้ไม่นานก็หมดเล่ม เพราะฉะนั้น เขาก็เลยหล่อเทียนเข้าพรรษาต้นโตๆ ขึ้นมา เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้อาศัยความสว่างจากเทียนพรรษาในการศึกษาพระธรรมวินัยตลอด 3 เดือน
ปกติในเวลาเข้าพรรษาจะมีการถวายเทียน แต่ในปัจจุบันมีการถวายหลอดไฟฟ้าแทน ไม่ทราบว่าต่างกันหรือไม่และบุญที่ได้ต่างกันแค่ไหน?
" โบราณ กล่าว่า ยิ่งทำด้วยความตั้งใจ เจตนาบริสุทธิ์ และมีศรัทธาอย่างแรงกล้าเต็มเปี่ยม บุญยิ่งมหาศาล"
สมัยโบราณไม่มีไฟฟ้า ต้องอาศัยแสงเทียนในการศึกษาพระธรรมวินัย จึงมีการหล่อเทียนพรรษาและถวายเทียนพรรษา และอะไรก็ตามที่ถวายแด่พระรัตนตรัย ท่านจะทำกันสุดฝีมือ เทียนที่หล่อจึงแกะสลักลวดลายอย่างสุดฝีมือ ถือเป็นการแสดงความเคารพพระรัตนตรัย
ในยุคปัจจุบัน ในเมื่อมีไฟฟ้าและ จะศึกษาพระธรรมวินัยก็เปิดไฟได้ ไม่ต้องจุดเทียน ประเพณีการทวายเทียนจึงเป็นแค่ประเพณีเฉยๆ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้จุดด้วยซ้ำไป พอรู้อย่างนี้เราถวายหลอดไฟได้ไหม คำตอบคือได้เหมือนกัน เพราะถวายในสิ่งที่พระท่านได้ใช้ประโยชน์ ทำเพื่ออำนวยความสะดวกในการศึกษาพระธรรมวินัยของท่าน ก็เป็นการดี
ในช่วงเข้าพรรษาควรจะปฏิบัติตนอย่างไร? มีบางคนตั้งใจทำความดี อย่างเช่น งดเหล้า งดบุหรี่ ถือว่าเป็นแนวทางที่ดีหรือเปล่า?
เข้าพรรษาเป็นเทศกาลแห่งการทำความดีคือ ทุกคนต่างตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัยและประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นพิเศษกว่าช่วงอื่นจึงตั้งใจ งดเหล้า งดสูบบุหรี่ และอบายมุขทั้งหลายด้วย งดตลอด 3 เดือน และจะตั้งใจสวดมนต์ ไปวัดทุกวันพระ ไปฟังเทศน์ฟังธรรม ถือศีล 8 เป็นต้น
ช่วงเข้าพรราพระภิกษุต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง?
ในวันเข้าพรรษา พระจะไปรวมกันที่โบสถ์พร้อมกันทั้งวัด แล้วก็อธิษฐานด้วยการกล่าวคำว่า "อิมสฺมึ อาวาเส อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปม." แปลว่า "ข้าพเจ้าขออธิษฐานอยู่จำพรรษา ณ อาวาสแห่งนี้ตลอด ๓ เดือนนี้ " ตั้งจิตอธิษฐานว่าเราจะอยู่ที่วัด ตลอด ๓ เดือน พอประชุมพร้อมกันเสร็จแล้วพระภิกษุผู้เป็นเถระ เช่น เจ้าอาวาส ก็จะให้โอวาทพระภิกษุ ให้ตั้งใจฝึกฝนปฏิบัติธรรมเป็นพิเศษ และให้ข้อคิดต่างๆ ในการฝึกฝนตนเอง
พระสงฆ์ท่านมีกิจกรรมในระหว่างพรรษาของท่าน แล้วพวกเราสาธุชนจะอธิษฐานพรรษาได้หรือเปล่า?
สาธุชนไม่มีพระวินัยบังคับเรื่องอธิษฐานโดยตรง แต่ในพรรษาเราควรตั้งใจว่า ใน 3 เดือนนี้จะทำความดีอะไรบ้าง สัก 2-3 ประการ อาทิเช่น
1.ใครที่ดื่มเหล้าอยู่ พรรษานี้ต้องตั้งใจว่า จะไม่ยอมให้เหล้าแม้แต่หยดเดียวผ่านลำคอ จะงดสูบบุหรี่และอบายมุขทั้งหลายด้วย ไม่ว่าการพนันเที่ยวกลางคืน งดตลอด 3 เดือน และจะตั้งใจสวดมนต์และนั่งสมาธิทุกวัน
2.ให้จำพรรษาอยู่ในวงกาย กายยาววา กว้างศอก หนาคืบคือเอาใจมาอยู่กับเนื้อกับตัวด้วยการทำสมาธิเอาใจมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย
***** ถ้าทำอย่างนี้แล้ว พรรษานี้จะเป็นพรรษาแห่งความรุ่งเรืองและความสำเร็จของทุกๆ คน*****
แต่ละวัดมีการจัดกิจกรรมในวันเข้าพรรษาหมือนกัน หรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง?
หลักการใหญ่ที่ไม่ต่างกันคือการที่พระภิกษุสงฆ์อยู่ประจำที่ 3 เดือน แล้วศึกษาพระธรรมวินัย แต่รายละเอียดของการปฏิบัติจะเข้มข้นขนาดไหนนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละวัด เช่น บวชแล้วต้องมีการศึกษาพระธรรมวินัย เรื่องนี้เราต้องยอมรับว่า บางวัดอาจจะมีพระน้อย
ประเด็นหลัก คือ บวชแล้วขอให้ได้ศึกษาพระธรรมวินัย อย่าบวชเสียผ้าเหลือ ต้องมีกิจวัตรกิจกรรม มีการฝึกตัวเองที่เข้มข้น ตัวอย่างกิจวัตรที่วัดธรรมกายตอนเช้า ตื่นตี 4 ครึ่ง สวดมนต์ทำวัตรเช้า นั่งสมาธิ พอฟ้าเริ่มสางก็ออกไปบิณฑบาตส่วนหนึ่งอยู่ทำความสะอาดกุฏิ ดูแลสถานที่ต่างๆ ให้เรียบร้อย เวลา 7 โมงเช้า ฉันเช้าพร้อมกัน โดยมีพระอาจารย์มาสอนมารยาทในการขบฉัน 8 โมงครึ่ง สวดมนต์นั่งสมาธิต่อถึงเพล ฉันเพลเสร็จพักกันสักครู่พอบ่ายโมงก็ศึกษาพระธรรมวินัย ตกเย็นก็ช่วยกันทำความสะอาดสถานที่และทำภารกิจต่างๆ 1 ทุ่ม สวดมนต์ นั่งสมาธิ กิจวัตรกิจกรรมเป็นอย่างนี้ตลอด ทุกๆ วัน เพราะฉะนั้น พระบวชใหม่จะได้รับการฝึกฝนอย่างเต็มที่
บวชครบ 3 เดือนแล้ว คนโบราณจะเรียกว่า "ทิด" แปลว่าคนสุก คือกิเลสถูกการบำเพ็ญตบะด้วยการทำความดีบ่มจนสุก แม้ยังไม่ถึงกับหมดกิเลส แต่จากดิบๆ กลายเป็นสุกแล้ว กลายเป็นผู้ที่มีคุณธรรม มีความยับยั้งชั่งใจ เจอปัญหาอะไรก็มีหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่ศึกษามาเป็นหลักในการแก้ไข
กิจกรรมสำหรับผู้หญิงวันเข้าพรรษามีบ้างไหม?
ผู้หญิงก็บวชอุบาสกาแก้วทำบุญตักบาตรถึงคราววันพระวันโกน บางทีไปค้างที่วัดเลย ไปรักษาศีล 8 ไปถืออุโบสถศีล และฟังเทศน์ฟังธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากๆ
ประวัติความเป็นมาของประเพณีแห่เทียนพรรษา
ก่อนสมัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองอุบล ชาวอุบลไม่มีการหล่อเทียนแห่เทียนเช่นปัจจุบัน ชาวบ้านจะฟั่นเทียนยาวรอบศีรษะไปถวายพระเพื่อจุดบูชาจำพรรษา ครั้นในสมัยกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้เป็นผู้สำเร็จราชการที่ เมืองอุบล คราวหนึ่งมีการแห่บั้งไฟที่วัดกลาง มีคนไปดูมาก ในการแห่บั้งไฟมีการตีกันในขบวนแห่จนถึงแก่ความตาย เสด็จในกรมเห็นว่าไม่ดี จึงให้เลิกการแห่บั้งไฟและเปลี่ยนเป็นการแห่เทียนแทน
การแห่เทียนแต่เดิมไม่ได้จัดใหญ่โตเช่นปัจจุบัน เพียงแต่ชาวบ้านร่วมกันบริจาคเทียน แล้วนำเทียนมาติดกับลำไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ ตามรอยต่อหากระดาษจังโก (กระดาษสีเงินสี
ทอง) ตัดเป็นลายฟันปลาปิดรอยต่อ เสร็จแล้วนำต้นเทียนไปมัดติดกับปิ๊ปน้ำมันก๊าด ฐานของต้นเทียนใช้ไม้ตีเป็นแผ่นเรียบ หรือทำสูงขึ้นเป้นชั้นๆ ติดกระดาษ เสร็จแล้วมีการแห่นำไปถวายวัด พาหนะที่ใช้นิยมใช้เกวียน หรือล้อเลื่อนที่ใช้วัวหรือคนลากจูง การแห่ของชาวบ้านก็จะมีฆ้อง กลอง กรับ และการฟ้อนรำด้วยความสนุกสนาน
ในระยะเวลาประมาณ พ.ศ.2480 การทำต้นเทียนได้พัฒนาขึ้น ถึงขั้นใช้การหล่อออกจากเบ้าพิมพ์ที่เป็นลายง่ายๆ เช่น ประจำยาม กระจัง ตาอ้อย บัวคว่ำ บัวหงาย ก้ามปู ฯลฯ แล้วนำไปติดที่ลำต้นเทียน ช่างผู้มีชื่อเสียงในทางนี้คือ นายโพธิ์ ส่งศรี ลายที่พ่อใหญ่โพธิ์ทำขึ้นเป็นลายง่ายๆ เช่น ลายประจำยาม กระจังตาอ้อย ใบเทศ บัวคว่ำบัวหงาย พ่อใหญ่โพธิ์เป็นช่างทำต้นเทียน ให้กับวัดทุ่งศรีเมือง ต่อมา นายสวน คูณผล ได้นำวิธีการดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ และประดับฐานต้นเทียนด้วยรูปปั้นสัตว์และลายไม้ฉลุทำให้ดูสวยงามมากขึ้น ผลงานทำต้นเทียน ของนายสวน คูณผล จึงมักจะได้รางวัลชนะเลิศอยู่เป็นประจำ
ประเพณีแห่เทียนพรรษา
งานประเพณีแห่เทียนพรรษา จ.อุบลราชธานี นอกจากจะเป็นงานที่แสดงออกถึง การยึดมั่นสืบสานงานบุญทางพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัดของชาวเมืองอุบลฯ แล้ว ยังเป็นงานที่แสดงออกถึงวิวัฒนาการด้านศิลปะของสกุลช่างเมืองอุบลฯ อีกด้วย ทั้งนี้ เนื่องจาก บรรดาช่างศิลป์เมืองอุบลฯ ที่มีอยู่มากมายหลากหลายแขนง และผลิตงานด้านศิลปอย่างต่อเนื่องตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปร่วมสมัย งานหัตถกรรมพื้นบ้าน และงานก่อสร้างตกแต่งโบสถ์วิหารต่างๆ จะใช้โอกาสในช่วงเทศกาลนี้กลับมาทดสอบ ทดลอง และประลองฝีมีเชิงช่าง โดยผ่านต้นเทียนพรรษา ดังนั้น ผู้ที่มาร่วมงานประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี จึงสามารถชื่นชม และศึกษากิจกรรมของงาน ทั้งในด้านการสืบสานจารีตประเพณีพื้นเมือง และในด้านศิลปการตกแต่งต้นเทียนกิจกรรมภายในงานที่สำคัญ ๆ ได้แก่
1. เยือนชุมชน ชมวิถีวัฒนธรรมการตกแต่งต้นเทียน
การไปเยือนชุมชน หรือ คุ้มวัดต่าง ๆ ในช่วงที่กำลังเตรียมการตกแต่งต้นเทียน คือในช่วงประมาณ 2-3 วัน ก่อนวันแห่นั้น นอกจากผู้มาเยือนจะได้ศึกษากรรมวิธีและขั้นตอน การตกแต่งเทียนอันเป็นปัญญาของท้องถิ่นแล้ว ยังจะได้สัมผัสบรรยากาศการร่วมแรงร่วมใจ ของชุมชนในการทำกิจกรรมทางพุทธศาสนา ซึ่งถือเป็นวิถีวัฒนธรรมพื้นบ้านที่สำคัญของชาวอุบลฯ สำหรับคุ้มวัดที่น่าสนใจ เช่น วัดบูรพา วัดหนองบัว วัดสว่างอารมณ์ วัดศรีประดู่ทรงธรรม วัดสุทัศวนาราม วัดทุ่งศรีเมือง และวัดผาสุการาม เป็นต้น
2. การเวียนเทียนวันอาสาฬบูชาที่วัดงามในเมืองอุบลฯ
การเวียนเทียนเนื่องใน
วันอาสาฬหบูชาจัดขึ้นในช่วงค่ำของ ตามวัดต่างๆ โดยทั่วไปกิจกรรมนี้ นอกจากจะเป็นกิจกรรมที่สำคัญ ของพุทธศาสนิกชนแล้ว ยังเป็นโอกาสอันดีของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ที่จะได้ชื่นชมเอกลักษณ์ ทางสถาปัตยกรรมพื้นเมือง อันงดงามตามวัดต่างๆ ในอีกมิติหนึ่ง
3. การตั้งแสดงต้นเทียนรอบทุ่งศรีเมือง
ในช่วงค่ำของวันอาสาฬหบูชา จะเป็นเวลาที่ต้นเทียน พรรษาจากคุ้มวัดต่างๆ กว่า 30 ต้น จะถูกเคลื่อนย้ายมาตั้งไว้ ณ บริเวณถนนรอบๆ ทุ่งศรีเมือง เพื่อเตรียมการเข้าร่วมขบวนแห่ในเช้าวันรุ่งขึ้น ในช่วงนี้ ต้นเทียนจะได้รับการตกแต่งอย่างสมบูรณ์ ประกอบกับสถานที่ตั้ง จะได้รับการจัดเตรียมไว้อย่างดี เช่น การเตรียมแสงไฟ ไว้สาดส่องต้นเทียน การประดับประดาบริเวณงาน อย่างเป็นระเบียบ ดังนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว จึงเป็น ช่วงเวลาที่ดีที่สุด ในการชื่นชมศิลปการตกแต่งเทียนอย่างละเอียดละออ โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเวลา และอาจกล่าวได้ว่าเป็นการแสดงศิลปะตกแต่งเทียนที่งดงาม และสมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย
4. กิจกรรมขบวนแห่เทียนพรรษา
จะจัดขึ้นในวันรุ่งขึ้น คือวันเข้าพรรษา ตั้งแต่เวลา ประมาณ 08.00 น. เป็นต้นไป โดยจะเคลื่อนขบวนไปตามถนนอุปราช ผ่านหน้าศาลากลาง ไปถนนชยางกูร เป็นระยะทางประมาณ2-3 กม. จึงสลายขบวน รูปแบบของการจัดขบวนประกอบด้วย ขบวนเทียนหลวงพระราชทาน ขบวนต้นเทียนของคุ้มวัดต่าง ๆ ซึ่งแต่ละขบวนจะประกอบด้วยการแสดง การละเล่น การฟ้อนรำ การบรรเลงดนตรีในรูปแบบของศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง การเข้าชมขบวนแห่ คณะกรรมการจัดงาน จะจัดเตรียมอัฒจันทร์นั่งชมไว้บริการ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด
และเราก็มีเรื่องเล่าฤดูกาลเข้าพรรษาช่วงเวลาแห่งการฝึกฝนแก้ไขปรับปรุงตนเองของพระภิกษุสามเณรและสาธุชนทั่วไป
ความกตัญญูทำให้เป็นผู้มีปัญญา คนที่มีความกตัญญูกตเวทีนั้น ทุกลมหายใจเข้าออก เป็นเรื่องของการหาช่องทางทุ่มเทสติปัญญาความรู้ความสามารถ เพื่อการตอบแทนคุณจึงเป็นการเพิ่มพูนสติปัญญาขึ้นมาโดยอัตโนมัติ